โนล" (Knol) บริการน้องใหม่ถอดด้ามในสังกัดกูเกิลภายใต้คอนเซ็ปต์สารานุกรมออนไลน์ที่สร้างขึ้นจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ทำนองเดียวกับเว็บวิกิพีเดียแต่ต่างกันที่โนลให้เฉพาะผู้เขียนข้อมูลเป็นผู้ปรับแก้เท่านั้น แม้จะเพิ่งดำเนินการได้เพียง 3 สัปดาห์ แต่ก็มากพอที่จะจุดกระแสให้ธุรกิจสื่อต้องจับจ้องมองด้วยความเกรงกลัว ในที่นี้อาจไม่ใช่ด้วยตัวของเว็บโนลเอง แต่เป็นเพราะทิศทางการทำธุรกิจของกูเกิลที่มีแนวโน้มจะขยับขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับบริษัทสื่อทั้งหลาย
ในฐานะที่กูเกิลเป็นคู่แข่งที่ทรงพลังและน่ากลัวทั้งในด้านการเป็นเจ้าของคลังเนื้อหาหลากหลายประเภท ไปจนถึงอำนาจในการควบคุมช่องทางการเข้าถึงเนื้อหาของผู้ใช้ทั่วโลก โดยประเด็นที่หวั่นเกรงหลักๆ ก็คือเรื่องของผลประโยชน์ หรือรายได้จากการให้บริการ เนื่องจากเว็บใดๆ ที่ถูกจัดอันดับ (จากการค้นผ่านเว็บให้บริการค้นหาข้อมูล หรือเสิร์ช เอนจิน) ให้อยู่ในลำดับท้ายๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมีผู้เข้าไปใช้บริการน้อย และเมื่อมีผู้เข้าชมน้อย โอกาสที่จะมีโฆษณาเข้าเว็บซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักก็น้อยตามนั่นเอง
นายกาเบรียล สตริกเกอร์ โฆษกของกูเกิลจะออกมายืนยันว่า บริษัทไม่เคยโอนเอียงในการแสดงผลการค้นหาบนเสิร์ช เอนจิน รวมทั้งไม่มีแผนที่จะเป็นเจ้าของหรือสร้างเนื้อหาเองหากแต่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งผ่านเนื้อหาไปยังผู้ใช้มากกว่า และให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรกับบริษัทด้านสื่อมากกว่าจะทำตนเป็นศัตรู เช่น กรณีเว็บโนลก็เป็นเพียงเครื่องมือที่เอื้อให้ผู้คนเข้ามาสร้างและเผยแพร่ข้อมูล สิ่งที่กูเกิลทำคือคอยบริหารจัดการให้ข้อมูลทั้งหลายส่งไปถึงผู้ค้นหา ซึ่งกูเกิลไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เนื้อหาในโนล หรือกระทั่งในเว็บโนลก็ไม่ได้มีโลโกของกูเกิลด้วยซ้ำ
หากแต่เวนดา แฮร์ริส มิลลาร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของเว็บมาร์ธา สจ๊วต ลิฟวิ่ง ออมนิมีเดียที่ให้บริการ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าในชีวิตประจำวันและไลฟ์สไตล์ ตั้งข้อสังเกตว่าการที่กูเกิลเดินบทบาทร่วม ทั้งการเป็นเว็บเสิร์ช เอนจินและให้บริการเว็บเนื้อหาหลากประเภท จะกลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามในการให้บริการของกูเกิลว่าจะมีอคติมากน้อยเพียงใด
โนลไม่ได้เป็นประเด็นที่สร้างความหนักใจให้กับสื่อต่างๆ เป็นกรณีแรก ก่อนหน้านี้กูเกิลยังมีเว็บเนื้อหาประเภทต่างๆ ที่ครอบครองออกมาเป็นระยะ เช่น บล็อกเกอร์ หนึ่งในเว็บให้บริการบล็อกหรือไดอารีออนไลน์ที่ได้รับความนิยม ทั้งยังมีหนังสือที่อยู่ในรูปดิจิตอลเป็นล้านล้านเรื่อง ซึ่งหาได้ผ่านทางบริการเสิร์ช เอนจินของกูเกิลเอง รวมถึงเป็นเจ้าของยูสเน็ต คลังให้บริการฟอรัมการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ นอกจากนี้ กูเกิลยังให้บริการข่ายจากสำนักข่าวเอพีผ่านบริการกูเกิล นิวส์ ข้อมูลตลาดหุ้นผ่านบริการกูเกิล ไฟแนนซ์ และเว็บยูทิวบ์ ผู้ให้บริการเว็บวีดีโอรายใหญ่
นายเจสัน คาลาคานิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเว็บเสิร์ช เอนจินที่เปิดให้ผู้ใช้เข้าไปสร้างหน้าเว็บค้นหาจากหัวเรื่องต่างๆ ได้เป็นอีกผู้หนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตว่า การรุกเข้าสู่ธุรกิจเนื้อหาของกูเกิลจะนำไปสู่ความขัดแย้งเหมือนที่ไมโครซอฟท์เคยประสบมาแล้วกรณีที่เป็นทั้งผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการที่อำนวยให้ผู้อื่นใช้เป็นฐานสร้างระบบงานซอฟต์แวร์ แต่ขณะเดียวกันตัวเองก็สร้างระบบงานออกมาแข่งด้วย ซึ่งกับกูเกิลอาจเป็นไปได้ว่าเว็บด้านเนื้อหาของกูเกิลก็อาจปรากฎขึ้นในลำดับต้นๆ ของบริการเสิร์ช เอนจินของกูเกิลเองได้เช่นกัน
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น